Get Adobe Flash player

สังฆธรรมนูญเรื่อง “การเผยความจริงของพระเจ้า”

Dei Verbum

 

เปาโล สังฆราช

ผู้รับใช้แห่งผู้รับใช้ทั้งหลายของพระเจ้า

ร่วมกับบรรดาปิตาจารย์แห่งสภาสังคายนา

เพื่อจดจำไว้ตลอดไป

 

อารัมภบท

1)       สภาสังคายนาสากลฟังพระวาจาของพระเจ้าด้วยความศรัทธา และประกาศด้วยความมั่นใจ ปฏิบัติตามวาทะของนักบุญยอห์นที่ว่า “เราประกาศให้ท่านทั้งหลายทราบถึงชีวิตนิรันดรซึ่งอยู่กับพระบิดา และปรากฏให้เราเห็น สิ่งที่เราได้เห็นและได้ฟังนี้ เราประกาศให้ท่านทั้งหลายทราบด้วย เพื่อท่านจะได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเรา ความเป็นหนึ่งเดียวกับเราก็คือความเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาและกับพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสตเจ้า” (1 ยน. 1:2-3)

          ดังนั้น สภาสังคายนานี้จึงดำเนินตามแนวทางของสภาสังคายนาแห่งเตร็นท์และสภาสังคายนาวาติกันที่ 1 มีความประสงค์จะอธิบายคำสั่งสอนแท้จริงเรื่องการเผย(ความจริง)ของพระเจ้า และการถ่ายทอดการเผย(ความจริง) นี้สืบต่อกันมา เพื่อว่ามนุษย์ทั่วโลกจะได้ฟังการประกาศความรอดพ้นและมีความเชื่อ ด้วยความเชื่อ จะได้มีความหวัง และด้วยความหวังจะได้มีความรัก (น.ออกัสติน)

บทที่ 1 : การเผย (ความจริง)

2)       พระเจ้าทรงพระทัยดีและปรีชาญาณ ทรงมีพระประสงค์ที่จะแสดงพระองค์แก่มนุษย์   ให้มนุษย์รู้ถึงแผนการอันเร้นลับของพระองค์ (เทียบ อฟ 1:9) คือการที่โดยทางพระคริสตเจ้าองค์พระวจนาถต์ผู้ทรงรับเอาร่างกาย มนุษย์สามารถเข้าถึงพระบิดาเจ้าในองค์พระจิตเจ้า และมีส่วนในพระธรรมชาติพระเจ้าได้ (เทียบ อฟ 2:18, 2 ปต 1:4) เพราะฉะนั้นอาศัยการเผยนี้   พระเจ้าซึ่งมนุษย์ไม่อาจมองเห็นได้ (เทียบ คส 1:15, 1 ทธ 1:17) ตรัสกับมนุษย์อย่างเพื่อน ด้วยความรักอันล้นเหลือของพระองค์ (เทียบ อพย 33:11, ยน 15:14-15) และประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขา (เทียบ บรค 3:38) เพื่อจะได้ทรงเชิญและรับเขาเข้ามาสนิทกับพระองค์ แผนการเผยนี้สำเร็จไปด้วยกิจการและพระวาจาซึ่งเกี่ยวเนื่องกันอย่างลึกซึ้ง จนว่ากิจการที่พระเจ้าทรงทำในประวัติศาสตร์แห่งความรอดนั้นแสดงและยืนยันคำสั่งสอนและความจริงที่พระวาจาหมายถึง ส่วนพระวาจาก็ประกาศถึงกิจการ และอธิบายข้อเร้นลับในกิจการเหล่านั้นให้แจ่มแจ้ง อาศัยการเผยนี้   ความจริงอันลึกซึ้งเกี่ยวกับพระเจ้า และเกี่ยวกับความรอดพ้นของมนุษย์ จึงส่องสว่างให้กับเราเดชะพระคริสตเจ้า ซึ่งทรงเป็นคนกลาง และทรงเป็นผู้เผยสมบูรณ์ที่สุดในเวลาเดียวกันด้วย

3)       พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างและทรงค้ำชูสรรพสิ่งไว้ด้วยพระวจนาถต์ (เทียบ ยน 1:3) โปรดให้สิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างมานั้นเป็นพยานถึงพระองค์อยู่เสมอ (เทียบ รม 1:19-20) นอกจากนั้นพระองค์ยังมีพระประสงค์ที่จะเบิกทางไปสู่ความรอดพ้นเหนือธรรมชาติ   จึงทรงแสดงพระองค์ให้กับบิดามารดาเดิมของเราตั้งแต่แรก   แต่เมื่อมนุษย์คู่แรกตกในบาปแล้ว พระองค์ก็ทรงสัญญาจะกอบกู้มนุษยชาติ และโปรดให้เขามีความหวังที่จะได้รับความรอดพ้น (เทียบ ปฐก 3:15) พระองค์ทรงคอยเฝ้าดูแลมนุษย์อยู่เสมอมิได้ขาด เพื่อจะได้ประทานชีวิตนิรันดรให้กับทุกคนที่พากเพียรประกอบกิจการดีแสวงหาความรอดพ้น (เทียบ รม 2:6-7)     เมื่อถึงเวลาอันสมควร พระองค์ก็ทรงเรียกอับราฮัม เพื่อโปรดให้ท่านเป็นชนชาติใหญ่ (เทียบ ปฐก 12:2) หลังยุคบรรดาอัยกา พระองค์ทรงสั่งสอนชนชาตินั้นด้วยโมเสสและบรรดาประกาศกให้รับรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแท้ทรงชีวิตแต่ผู้เดียว เป็นพระบิดาผู้ทรงญาณและเป็นผู้พิพากษาเที่ยงธรรม   ทรงบอกให้เขาคอยพระผู้ไถ่ที่ทรงสัญญาจะส่งมา และดังนี้ตลอดเวลาหลายศตวรรษ พระองค์ทรงเตรียมหนทางไว้สำหรับพระวรสาร

4)       หลังจากที่พระเจ้าได้ตรัสหลายครั้งและด้วยวิธีต่างๆ ทางประกาศกทั้งหลาย “ในวาระสุดท้ายพระองค์ตรัสกับเราทางพระบุตร” (ฮบ 1:1-2) เพราะพระองค์ ทรงส่งพระบุตรของพระองค์--คือพระวจนาถต์นิรันดรซึ่งประทานความสว่าง แก่มวลมนุษย์   - ให้มาประทับอยู่ท่ามกลางมนุษย์ และแจ้งให้เขาทราบถึงข้อเร้นลับต่างๆ ของพระเจ้า (เทียบ ยน 1:1-18) ดังนั้นพระเยซูคริสตเจ้า – พระวจนาถต์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์     ซึ่งพระเจ้าทรงส่งมายังมนุษย์ทั้งหลายนั้น จึงได้ “ตรัสพระวาจาของพระเจ้า” ( ยน 3:34) และทรงประกอบภารกิจช่วยมนุษย์ให้รอด ดังที่พระบิดาทรงมอบหมายให้กระทำนั้นสำเร็จลุล่วงไป (เทียบ ยน 5:36, 17:4) ดังนั้น   พระเยซูคริสตเจ้าซึ่งใครที่เห็นพระองค์ก็เห็นพระบิดาด้วย (เทียบ ยน 14:9) จึงทรงใช้การประทับอยู่และแสดงพระองค์ให้ปรากฏทุกแบบ ได้แก่พระวาจา และกิจการ, เครื่องหมายและการอัศจรรย์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพอันรุ่งโรจน์ และการส่งพระจิตแห่งความจริงลงมาในที่สุด   ทรงทำให้การเผยความจริงของพระเจ้าสำเร็จสมบูรณ์ และทรงเป็นพยานยืนยันว่าพระเจ้าประทับอยู่กับเราเพื่อจะทรงช่วยเราให้เป็นอิสระ   พ้นจากความมืดมนแห่งบาปและความตาย และเพื่อทรงปลุกเราขึ้นมารับชีวิตนิรันดร

          ดังนั้น แผนการความรอดพ้นในพระคริสตเจ้า ในฐานะที่เป็นพันธสัญญาใหม่และเด็ดขาดนี้จะไม่ผ่านพ้นไปเลย และเราไม่ต้องรอคอย การเผยอะไรใหม่ให้กับมนุษย์ทั้งหลายอีกต่อไป ก่อนจะถึงการปรากฏองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา (เทียบ 1 ทธ 6:14, ทต 2:13)

5)       เราต้องมีความเชื่ออย่างนอบน้อมต่อพระเจ้า ผู้ทรงแสดงองค์กับเรา (เทียบ รม 16:26 กับ 1:5, 2 คร 10:5-6) ความเชื่ออย่างนอบน้อมนี้คือการที่มนุษย์ยอมมอบตนเองโดยเสรีกับพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง   ถวายสติปัญญาและน้ำใจของตนอย่างเต็มที่เพื่อแสดงคารวะต่อพระองค์ผู้ทรงเผยความจริง และยอมเห็นด้วยกับการเผยของพระองค์ด้วยใจเสรี เราจะแสดงความเชื่อเช่นนี้ได้ก็จำเป็นต้องมีพระหรรษทานของพระเจ้านำหน้าคอยช่วยเหลือ และมีพระจิตเจ้าคอยอนุเคราะห์อยู่ภายใน พระจิตเจ้าทรงเร้าจิตใจและทรงโน้มน้าวให้หันกลับมาหาพระเจ้า ทรงเปิดนัยน์ตาของสติปัญญาและประทาน “ให้กับทุกคนซึ่งความยินดีที่จะยอมรับความจริงและเชื่อความจริงนั้น” พระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้ ประทานพระคุณนานาประการอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความเชื่อสมบูรณ์ เพื่อความเข้าใจข้อความจริงที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบนั้นจะได้ก้าวหน้าลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้น

6)       อาศัยการเผยความจริง พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะแสดงและประทานพระองค์ รวมทั้งแผนการนิรันดรที่ทรงกำหนดไว้เกี่ยวกับความรอดพ้นของมนุษย์ให้ “นั่นคือให้มนุษย์เข้ามีส่วนในพระพรต่างๆ ของพระเจ้า ซึ่งเกินกำลังสติปัญญามนุษย์จะเข้าใจได้”

          สภาสังคายนานี้ยืนยันว่า “มนุษย์อาจรู้จักพระเจ้าผู้ทรงเป็นเบื้องต้นและบั้นปลายของสรรพสิ่งได้แน่นอนด้วยความสว่างตามธรรมชาติของเหตุผลตามสติปัญญามนุษย์จากสิ่งสร้างทั้งหลาย” (เทียบ รม 1:20)   แต่สภาสังคายนาฯยังสอนอีกว่า เราต้องพึ่งการเผยของพระเจ้าเพื่อให้ “ความจริงต่างๆ เกี่ยวกับพระเจ้า ซึ่งตามปกติสติปัญญามนุษย์เข้าใจได้เองอยู่แล้วนั้น ในสภาพปัจจุบันของมนุษย์จะได้เป็นที่รู้ได้โดยง่าย ด้วยความแน่ใจจริงๆ และไม่มีความผิดหลงปะปนอยู่ด้วยเลย”

บทที่ 2 : การถ่ายทอดความจริงที่พระเจ้าทรงเผยสืบต่อกันมา

7)        ด้วยพระทัยดีอย่างที่สุดพระเจ้าทรงจัดไว้ว่า ความจริงที่พระองค์ทรงเผยให้รู้เพื่อความรอดของนานาชาตินั้นจะต้องคงอยู่เสมอไปอย่างครบถ้วน   และจะต้องถ่ายทอดให้แก่ชนรุ่นหลังสืบต่อกันไปทุกอายุขัย ด้วยเหตุนี้ พระคริสตเจ้าผู้ทรงทำให้การเผยความจริงของพระเจ้าผู้สูงสุดสำเร็จบริบูรณ์ในพระองค์ (เทียบ 2 คร 1:20, 3:16, 4:6) จึงทรงมีพระบัญชาให้บรรดาอัครสาวกไปประกาศ   “พระวรสาร” หรือ “ข่าวดี” ที่ทรงสัญญาไว้โดยทางบรรดาประกาศก และพระองค์ทรงกระทำให้สำเร็จไป ทั้งยังทรงประกาศด้วยพระโอษฐ์เองด้วย บรรดาอัครสาวกจะต้องประกาศว่า “ข่าวดี” นั้นเป็นแหล่งที่มาของความจริงทั้งปวงที่นำความรอดพ้นมาให้ และเป็นระเบียบศีลธรรมสำหรับมนุษย์ทุกคน พร้อมกันนั้นท่านยังต้องนำพระพรของพระเจ้ามาแบ่งปันให้มวลมนุษย์ด้วย ภารกิจดังกล่าวก็สำเร็จไปอย่างซื่อสัตย์ ผู้ประกอบภารกิจดังกล่าวก็คือบรรดาอัครสาวกที่ประกาศสอนด้วยวาจา ให้แบบฉบับ และวางกฎเกณฑ์ ถ่ายทอดสิ่งที่ท่านได้รับมาจากพระวาจา จากการร่วมชีวิตอย่างใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้า และจากกิจการที่ทรงกระทำ หรือจากที่ท่านได้เรียนรู้มาจากการดลใจของพระจิตเจ้าสืบต่อมา นอกจากนั้น บรรดาอัครสาวกและผู้อยู่ใกล้ชิดกับท่าน ซึ่งได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน ยังได้บันทึกสารเรื่องความรอดพ้นนี้ลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ภารกิจการประกาศข่าวดีนี้สำเร็จไปด้วย

          เพื่อรักษาพระวรสารหรือข่าวดีให้ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันอยู่เสมอไว้ในพระศาสนจักรตลอดไป บรรดาอัครสาวกจึงตั้งบรรดาสังฆราชให้เป็นผู้สืบตำแหน่งต่อไป และ “มอบหมายตำแหน่งหน้าที่สั่งสอนของท่านให้บรรดาสังฆราช” ดังนั้น ธรรมประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์และพระคัมภีร์ทั้งพันธสัญญาเดิม และพันธสัญญาใหม่จึงเป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้พระศาสนจักรซึ่งยังเดินทาง อยู่ในโลกนี้เพ่งดูพระเจ้าได้ พระศาสนจักรรับทุกสิ่งทุกอย่างจากพระองค์จนกว่าจะได้เห็นพระองค์หน้าต่อหน้า ดังที่พระองค์ทรงเป็นอยู่นั้น (เทียบ 1 ยน 2:3)

8)       ดังนั้น   คำเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกที่มีบันทึกไว้อย่างพิเศษในหนังสือที่ได้รับการดลใจนี้ ต้องได้รับการรักษาไว้สืบต่อกันไปตราบจนสิ้นกาลเวลา ดังนั้นบรรดาอัครสาวกจึงถ่ายทอดสิ่งที่ท่านได้รับนั้นต่อมาเช่นกัน     พร้อมกับเตือนบรรดาคริสตชนให้ยึดธรรมประเพณีมั่นไว้ ไม่ว่าเขาจะเรียนรู้มาจากการสั่งสอนด้วยวาจาหรือทางจดหมายก็ตาม (เทียบ 2 ธส 2:15) และให้ต่อสู้เพื่อรักษาความเชื่อที่ได้รับมาครั้งเดียวสำหรับตลอดไปนี้ด้วย (เทียบ ยด 3) ธรรมประเพณีที่พระศาสนจักร ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรดาอัครสาวกนั้น รวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ช่วยให้ประชากรของพระเจ้า ดำเนินชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์และทวีความเชื่อของตนได้ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงใช้คำสั่งสอน ใช้การดำเนินชีวิตและคารวกิจ   สงวนรักษาทุกสิ่งที่ตนเป็นและเชื่อนั้นไว้ให้ถาวรตลอดกาล และถ่ายทอดต่อไปให้กับชนทุกรุ่นทุกอายุขัย

          ธรรมประเพณีที่สืบจากอัครสาวกยังคงดำรงอยู่ต่อไปในพระศาสนจักร ด้วยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า นั่นคือความเข้าใจถึงเรื่องราวและถ้อยคำที่สอนต่อกันมานั้นเพิ่มพูนขึ้นทั้งด้วยการรำพึงพิจารณาและการศึกษาของบรรดาผู้มีความเชื่อที่เก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ในจิตใจ (เทียบ ลก 2:19 และ 51) ทั้งอาศัยความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับความจริงทางจิตใจที่เขามีประสบการณ์   และ ด้วยการประกาศสอนของบรรดาผู้สืบตำแหน่งพระสังฆราชต่อกันมา โดยมีพรพิเศษที่จะประกันความจริงด้วย ดังนี้ ขณะที่เวลาทุกศตวรรษที่ผ่านไป พระศาสนจักรก็มุ่งหน้าตลอดเวลาไปหาความเข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าจนกว่าพระวาจาของพระเจ้าจะสำเร็จเป็นจริงในตน

          วาทะของบรรดาปิตาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์เป็นพยานยืนยันว่ามีธรรมประเพณีที่ให้ชีวิตเช่นนี้อยู่ในพระศาสนจักรจริงๆ   ความร่ำรวย(ทางจิตใจ)จากธรรมประเพณีนี้หลั่งลงสู่ชีวิตและการปฏิบัติของพระศาสนจักรที่มีความเชื่อและภาวนา อาศัยธรรมประเพณีเดียวกันนี้ พระศาสนจักรจึงรู้สารบบทั้งหมดของพระคัมภีร์ เข้าใจพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และทำให้พระคัมภีร์บังเกิดผลจริงจังอยู่มิได้ขาด และโดยวิธีนี้ พระเจ้าผู้ตรัสในกาลก่อน ยังไม่ทรงเลิกสนทนากับเจ้าสาวของพระบุตรสุดที่รักของพระองค์ต่อไป และพระจิตเจ้าซึ่งโปรดให้เสียงทรงชีวิตแห่งพระวรสารดังก้องในพระศาสนจักรและดังก้องไปทั่วโลก ทรงชักนำผู้มีความเชื่อให้รู้ความจริงทั้งปวงอาศัยพระศาสนจักร   และทรงทำให้ พระวาจาของพระคริสตเจ้าพำนักอยู่ในตัวเขาอย่างอุดมบริบูรณ์ (เทียบ คส 3:16)

9)       ดังนั้น ธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์และพระคัมภีร์จึงมีความเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะทั้งสองสิ่งนี้มาจากพระเจ้า ซึ่งเป็นบ่อเกิดอันเดียวกัน รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และมุ่งไปยังจุดหมายเดียวกัน เพราะพระคัมภีร์คือพระวาจาของพระเจ้า ที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยการดลใจของพระจิตเจ้า   ส่วนธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้า ที่พระคริสตเจ้าและพระจิตเจ้าทรงมอบไว้กับบรรดาอัครสาวก ให้กับผู้สืบตำแหน่งของท่านอย่างครบครัน   เพื่อให้พระจิตเจ้าแห่งความจริงทรงส่องสว่างให้ท่านเหล่านั้นสามารถใช้การประกาศสั่งสอนของตน รักษาพระวาจานั้นไว้อย่างซื่อสัตย์   อธิบายและเผยแผ่ทั่วไปทุกแห่งหน   ดังนั้น พระศาสนจักรจึงมิได้พึ่งพระคัมภีร์อย่างเดียวเพื่อจะได้แน่ใจถึงความจริงทั้งหมดที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบ เราจึงต้องรับและให้ความเคารพนับถือทั้งพระคัมภีร์และธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ด้วยความจงรักภักดี และความเคารพ เท่าเทียมกัน

10)     ธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์และพระคัมภีร์รวมกันเป็นคลังศักดิ์สิทธิ์แต่อันเดียว ที่บรรจุพระวาจาของพระเจ้าที่พระศาสนจักรได้รับมอบไว้ ประชากรศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระสังฆราชผู้อภิบาลของตนจึงยึดพระวาจานี้ไว้อย่างมั่นคงในคำสอนของบรรดาอัครสาวก และมีชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง ในการบิปังและในการภาวนา (เทียบ กจ 2:42)   ทั้งนี้จะได้มีการร่วมมือกันเป็นพิเศษ ระหว่างสัตบุรุษกับผู้ปกครองในการรักษา ในการปฏิบัติ   และในการแสดงความเชื่อที่ได้รับถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา

          แต่หน้าที่ที่จะตีความหมายพระวาจาของพระเจ้าที่บันทึกไว้ และที่ได้รับถ่ายทอดต่อกันมาทางวาจาได้อย่างถูกต้องนั้น   พระศาสนจักรผู้มีอำนาจสอนเท่านั้นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ และใช้อำนาจนี้ในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้มีอำนาจสั่งสอนนี้มิได้อยู่เหนือพระวาจาของพระเจ้า แต่รับใช้พระวาจา สอนแต่ความจริงที่ได้รับถ่ายทอดมา ในฐานะที่ความจริงนี้ได้รับมอบมาจากพระเจ้า โดยมีพระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือ ผู้มีอำนาจสอนจึงต้องรับฟังพระวาจาด้วยความศรัทธา เก็บรักษาพระวาจาไว้ด้วยความเคารพ และอธิบายพระวาจาด้วยความซื่อสัตย์ และตักตวงเอาความจริงทุกข้อจากคลังแห่งความเชื่อหนึ่งเดียวนี้ มาแสดงให้เห็นว่าเป็นข้อความจริงที่พระเจ้าทรงเผยให้เราต้องเชื่อ

ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ตามแผนการอันเปี่ยมด้วยพระปรีชาของพระเจ้า ธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ พระคัมภีร์ และอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างที่ว่าแต่ละอย่างจะอยู่ไม่ได้โดยไม่อาศัยอีกสองอย่าง ทั้งสามสิ่งนี้ต่างส่งเสริมความรอดพ้นของวิญญาณอย่างสัมฤทธิ์ผลตามวิธีการของตนโดยร่วมกับการกระทำของพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน

บทที่ 3 : พระคัมภีร์เขียนโดยการดลใจของพระเจ้า การตีความอธิบายพระคัมภีร์

11)     ข้อความจริงต่างๆ ที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบและมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์นั้นได้รับการบันทึกลงไว้ด้วยการดลใจของพระจิตเจ้า พระศาสนจักร มารดาศักดิ์สิทธิ์ อาศัยความเชื่อที่สืบจากอัครสาวกถือว่าหนังสือทุกเล่มในพันธสัญญาเดิมและในพันธสัญญาใหม่ รวมทั้งส่วนต่างๆทุกส่วนในหนังสือเหล่านั้น ทั้งหมดเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์และอยู่ในสารบบพระคัมภีร์ เพราะได้เขียนขึ้นโดยการดลใจของพระจิตเจ้า (เทียบ ยน 20:31, 2 ทธ 3:16, 2 ปต 1:9-21, 3:15-16) มีพระเจ้าทรงเป็นผู้นิพนธ์ และพระศาสนจักรได้รับมอบหมายในฐานะเป็นหนังสือเช่นนี้       แต่ทว่าในการนิพนธ์หนังสือศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้   พระเจ้า ทรงเลือกสรรมนุษย์ และทรงใช้เขาให้เขียนโดยใช้กำลังและความสามารถของตนอย่างที่ว่า แม้พระองค์ทรงกระทำงานในตัวเขาและทรงใช้เขาให้เขียนทุกอย่าง และเฉพาะสิ่งที่พระองค์มีพระประสงค์ให้เขาเขียนเท่านั้น เขาก็ยังเขียนอย่างผู้นิพนธ์ ที่แท้จริงด้วย

            ดังนั้น เนื่องจากว่าทุกสิ่งที่ผู้นิพนธ์ที่ได้รับการดลใจเขียนไว้ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่พระจิตเจ้าทรงกล่าวไว้เช่นเดียวกัน   เราจึงต้องยอมรับว่าหนังสือต่าง ๆ ของพระคัมภีร์สอนความจริงอย่างหนักแน่น ซื่อสัตย์ และถูกต้องไม่ผิดหลง   ความจริงนี้พระเจ้าทรงให้เขียนไว้ในพระคัมภีร์เพื่อความรอดพ้นของเรา   ดังนั้น “พระคัมภีร์ทั้งหมดซึ่งได้รับการดลใจจากพระเจ้าจึงเป็นประโยชน์สำหรับสั่งสอนตักเตือน แก้ความผิดหลง และอบรมให้บรรลุถึงความชอบธรรม   เพื่อให้คนของพระเจ้าเป็นผู้ครบครัน พร้อมที่จะประกอบกิจการ อันดีงามทุกอย่าง”   (2 ทธ 3:16-17)

12)     เนื่องจากในพระคัมภีร์ พระเจ้าตรัสทางมนุษย์และตามแบบอย่างมนุษย์   ผู้ตีความพระคัมภีร์จะรู้ชัดแจ้งว่าพระเจ้ามีพระประสงค์จะสื่ออะไรกับตน   จึงต้องพิจารณาด้วยความเอาใจใส่ว่าผู้เขียน พระคัมภีร์ต้องการจะให้ข้อความที่เขียนนั้นมีความหมายว่าอย่างไร และพระเจ้ามีพระประสงค์จะแสดงสิ่งใดโดยใช้ถ้อยคำของผู้เขียน

          เพื่อจะทราบความประสงค์ของผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ เราต้องพิจารณา“แบบวรรณกรรม” พร้อมกับสิ่งอื่นๆ ที่จะต้องพิจารณาด้วย เพราะว่าความจริงในตัวบทนั้นย่อมเสนอไว้ และแสดงออกด้วยวิธีการแตกต่างกัน   แล้วแต่ว่าตัวบทนั้นจะเป็นแบบประวัติศาสตร์ แบบประกาศก หรือแบบกวีนิพนธ์ หรือแบบเขียนอื่นๆ ผู้อธิบายพระคัมภีร์จะต้องค้นคว้าหาความหมายที่ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์มุ่งหมายจะแสดง และได้แสดงออกจริง ๆ ในสภาพแวดล้อมเฉพาะตามสมัยและวัฒนธรรมของเขา โดยใช้ “แบบวรรณกรรม” ที่ใช้กันในสมัยนั้น เราจะเข้าใจให้ถูกต้องว่าผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ต้องการจะบอกสิ่งใดให้ทราบโดยข้อเขียนเช่นนั้นได้   ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องถึงวิธีรับรู้ วิธีพูดและวิธีเล่าเรื่อง ตามประเพณีประจำชาติที่ใช้กันอยู่ในสมัยของผู้เขียนเสียก่อน และยังต้องเอาใจใส่ถึงแบบต่างๆที่คนสมัยนั้น มักจะใช้ในการติดต่อสื่อสารกันโดยทั่วไปด้วย

          แต่เนื่องจากว่าเราต้องอ่านและเข้าใจพระคัมภีร์อาศัยพระจิตเจ้าองค์เดียวกันกับที่ทรงดลใจให้เขียน   ดังนั้น   เพื่อจะพบความหมายที่ถูกต้องของตัวบทต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ เราจึงต้องระวังด้วยความเอาใจใส่ไม่น้อยกว่ากันถึงเนื้อหา ความเป็นหนึ่งเดียวของพระคัมภีร์ทั้งหมด และความสอดคล้องกันของข้อความเชื่อต่างๆ ด้วย   เป็นหน้าที่ของผู้อธิบายพระคัมภีร์ที่จะทำงานตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ เพื่อเข้าใจและแสดงความหมายของพระคัมภีร์ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น การศึกษาเช่นนี้จะได้เป็นการเตรียมให้พระศาสนจักรตัดสินได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น   เหตุว่าเรื่องต่างๆเหล่านี้ทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับวิธีอธิบายพระคัมภีร์ย่อมอยู่ในการวินิจฉัยของพระศาสนจักรเป็นขั้นสุดท้าย พระศาสนจักรปฏิบัติเช่นนี้ตามที่ได้รับ มอบหมายจากพระเจ้าให้มีหน้าที่รับใช้ในการเก็บรักษาและอธิบายพระวาจาของพระองค์นั่นเอง

13)     ดังนั้นพระคัมภีร์จึงแสดงให้เห็นว่า พระปรีชาญาณนิรันดรทรงถ่อมองค์ลงมาอย่างน่าพิศวงเพียงใด โดยที่ความจริงและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้ายังคงอยู่อย่างครบครัน “เพื่อเราจะได้เรียนรู้ถึงพระมหากรุณาสุดพรรณนาของพระเจ้า   และทราบว่าพระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ และจัดการปรับภาษาของพระองค์ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของเราเพียงไร”   เพราะว่า พระวาจาของพระเจ้า เมื่อแสดงออกเป็นภาษามนุษย์ ก็เป็นเหมือนคำพูดของมนุษย์ ดังเช่นครั้งหนึ่งที่พระวจนาถต์ของพระบิดานิรันดรทรงรับเอาธรรมชาติของมนุษย์ที่อ่อนแอ ทรงเป็นเหมือนมนุษย์นั่นเอง

บทที่ 4 : พันธสัญญาเดิม

14)     พระเจ้าสุดที่รักทรงตั้งพระทัยและทรงเตรียมความรอดพ้นของมนุษยชาติ   ทรงจัดแผนพิเศษเลือกสรรประชากรชาติหนึ่งไว้สำหรับพระองค์   เพื่อจะทรงฝากพระสัญญาไว้กับชนชาตินี้   พระองค์ทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัม (เทียบ ปฐก 15:18) และกับชนชาติอิสราเอลโดยทางโมเสส (เทียบ อพย 24:8) พระองค์ทรงแสดงพระองค์ด้วยพระวาจา และด้วยกิจการให้ประชากรที่ทรงได้มานั้น รู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแท้ และทรงชีวิตเพียงพระองค์เดียว   เพื่อให้ประชากรอิสราเอลมีประสบการณ์รู้ว่าวิธีการที่พระองค์ทรงใช้ปฏิบัติกับมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร   และเมื่อพระองค์ตรัสกับพวกเขาด้วยวาจาของบรรดาประกาศก พวกเขาก็ค่อย ๆ เข้าใจชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงวิธีการของพระเจ้า   และบอกให้นานาชาติทราบถึงวิธีการของพระองค์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย (เทียบ สดด 22:28-29, 96:1-3, อสย 2:1-4, ยรม 3:17) แผนการไถ่กู้ซึ่งผู้นิพนธ์พระคัมภีร์กล่าวล่วงหน้า เล่าเรื่อง   และอธิบายไว้นั้น มีอยู่ในหนังสือพันธสัญญาเดิมในฐานะเป็นพระวาจาของพระเจ้าจริงๆ ด้วยเหตุนี้หนังสือเหล่านี้ที่พระเจ้าทรงดลใจให้เขียนจึงมีคุณค่าถาวร “เพราะสิ่งทั้งหลายที่เขียนไว้ในกาลก่อนนั้น ก็เขียนไว้สำหรับ สั่งสอนเรา เพื่อว่าเราจะได้มีความหวังอาศัยความมั่นคงและการบรรเทาใจจากพระคัมภีร์นั้น” (รม 15:4)

15)     พระเจ้าทรงจัดแผนการของพันธสัญญาเดิมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ คือเพื่อเตรียมการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า พระผู้ไถ่แห่งสากลโลก และเตรียมการมาถึงของพระอาณาจักรของพระเมสสิยาห์ และแจ้งล่วงหน้าให้ทราบถึงการเสด็จมานี้ด้วย (เทียบ ลก 24:44, ยน 5:39, 1 ปต 1:10) พร้อมทั้งอธิบายให้เห็นโดยใช้รูปแบบต่างๆ (เทียบ 1 คร 10:11) หนังสือต่างๆในพันธสัญญาเดิมใช้วิธีอันเหมาะสมกับสภาพของมนุษยชาติก่อนยุคแห่งความรอดพ้นซึ่งพระคริสตเจ้าจะทรงสถาปนาขึ้นใหม่   เผยให้มนุษย์ ทั้งหลายรู้ถึงพระเจ้าและมนุษย์ และรู้วิธีการที่พระเจ้าผู้ทรงยุติธรรมและเมตตากรุณาทรงใช้ในการติดต่อกับมนุษย์ แม้ว่าหนังสือพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมเหล่านี้บันทึกบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่สมบูรณ์ และเป็นเพียงของชั่วคราวไว้ก็จริง   แต่ก็แสดงให้เห็นวิธีอบรมอันแท้จริงของพระเจ้า ดังนั้น คริสตชนจึงต้องรับหนังสือพันธสัญญาเดิมเหล่านี้ด้วยความศรัทธา เพราะหนังสือเหล่านี้แสดงออกถึงความเข้าใจพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา และยังเป็นที่รวบรวมพระธรรมคำสอนอันสูงส่งเรื่องพระเจ้า รวมทั้งความปรีชาที่มีประโยชน์เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ และยังเป็นคลังคำภาวนาต่างๆอย่างน่าพิศวง และในที่สุดยังซ่อนธรรมล้ำลึกเรื่องการไถ่กู้ไว้อีกด้วย

16)     ดังนั้น พระเจ้าผู้ทรงดลใจและทรงเป็นผู้นิพนธ์หนังสือต่าง ๆ ทั้งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ทรงจัดไว้อย่างชาญฉลาด ให้พันธสัญญาใหม่ซ่อนอยู่ในพันธสัญญาเดิม และให้พันธสัญญาเดิมปรากฏชัดในพันธสัญญาใหม่ (น.ออกัสติน)  

          แม้พระคริสตเจ้าทรงสถาปนาพันธสัญญาใหม่เดชะพระโลหิตของพระองค์แล้วก็จริง (เทียบ ลก 22:20, 1 คร 11:25) ถึงกระนั้น หนังสือพันธสัญญาเดิมทุกฉบับ เมื่อถูกรับเข้ารวมอยู่ในการประกาศพระวรสารแล้ว ก็ได้รับและแสดงความหมายอย่างสมบูรณ์ในพันธสัญญาใหม่ (เทียบ มธ 5:17, ลก 24:24, รม 16:25-26, 2 คร 3:14-16) ให้ความสว่างกับพันธสัญญาใหม่และอธิบาย พันธสัญญาใหม่ ด้วย

บทที่ 5 : พันธสัญญาใหม่

17)     พระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเป็นฤทธานุภาพของพระองค์และนำความรอดพ้นมาให้ทุกคนที่เชื่อ (เทียบ รม 1:16) ปรากฏและแสดงพลังอย่างเลิศล้ำในข้อเขียนของพันธสัญญาใหม่ นั่นคือเมื่อเวลากำหนดมาถึง (เทียบ กท 4:5) พระวจนาถต์ทรงรับสภาพมนุษย์และประทับอยู่ท่ามกลางเรา เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน และความจริง (เทียบ ยน 1:14) พระคริสตเจ้าทรงสถาปนาพระอาณาจักร ของพระเจ้าบนแผ่นดินนี้ ทรงใช้กิจการและพระวาจาแสดงพระบิดาและแสดงพระองค์ให้ปรากฏ   พระองค์ทรงประกอบภารกิจของพระองค์จนสำเร็จบริบูรณ์ อาศัยการสิ้นพระชนม์ การกลับคืนพระชนมชีพ การเสด็จสู่สวรรค์ด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ และทรงส่งพระจิตมาในโลก เมื่อพระองค์ทรงถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน พระองค์ก็ทรงชักนำมนุษย์ทั้งหลายเข้ามาหาพระองค์ (เทียบ ยน 21:32) พระองค์แต่ผู้เดียวทรงมีพระวาจาทรงชีวิตนิรันดร (เทียบ ยน 6:68) แผนการเร้นลับนี้ พระองค์มิได้ทรงแสดงกับคนรุ่นอื่นเลย เหมือนกับที่บัดนี้ได้ทรงเผยแก่บรรดาอัครสาวกและประกาศกผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์   เดชะพระจิตเจ้า (เทียบ อฟ 3:4-6) เพื่อพวกเขาจะได้ประกาศข่าวดี เร้าใจมนุษย์ให้มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าและรวบรวมเข้าเป็นพระศาสนจักร   ข้อเขียนในพันธสัญญาใหม่เป็นพยานจากพระเจ้าถึงเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ตลอดไป

18)     ทุกคนทราบว่า ในบรรดาข้อเขียนทั้งหลายในพระคัมภีร์ แม้ในพันธสัญญาใหม่ด้วย พระวรสารเป็นหนังสือที่เด่นกว่าหมด เพราะ พระวรสารเป็นพยานสำคัญถึงพระชนมชีพและคำสั่งสอนของพระวจนาถต์ ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และทรงเป็นพระผู้ไถ่ของเรา

          พระศาสนจักรยึดมั่นเสมอมาทุกยุคทุกสมัย และยังยึดมั่นต่อไปว่าพระวรสารทั้งสี่ฉบับมีต้นกำเนิดมาจากบรรดาอัครสาวก สิ่งที่บรรดาอัครสาวกประกาศสอนตามพระบัญชาของพระคริสตเจ้านั้น ต่อมาพระจิตเจ้าทรงดลใจให้ท่าน และผู้ใกล้ชิดกับท่านบันทึกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มอบต่อมาให้เราเป็นรากฐานความเชื่อ นั่นคือพระวรสารทั้งสี่ โดยมัทธิว มาระโก ลูกา และ ยอห์น

19)     พระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ไม่ลังเลใจที่จะยืนยันว่า พระวรสารทั้งสี่ฉบับบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จริงๆ พระศาสนจักรยึดถืออย่างมั่นคงเสมอมามิได้ขาด และยังคงยึดถือต่อไปว่าพระวรสารทั้งสี่ฉบับนั้นบอกให้รู้อย่างซื่อสัตย์ ถึงสิ่งที่พระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้าทรงกระทำ และทรงสั่งสอนจริงๆ เพื่อความรอดนิรันดรของมนุษย์ ขณะที่ทรงดำรงพระชนม์อยู่ท่ามกลางมนุษย์   จนกระทั่งวาระที่พระองค์เสด็จไปสวรรค์ (เทียบ กจ 1:1-2) อันที่จริงเมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว บรรดาอัครสาวกก็ถ่ายทอดสิ่งที่พระองค์เคยตรัส และเคยทรงกระทำให้ผู้ฟังต่อมาด้วยความเข้าใจที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความเข้าใจนี้ท่านได้รับจากเหตุการณ์ต่างๆอันรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และรับการสั่งสอนจากความสว่างของพระจิตแห่งความจริง     ผู้นิพนธ์เหล่านี้ได้เขียนพระวรสารทั้งสี่ฉบับโดยคัดเลือกเอาบางสิ่งบางอย่างจากเหตุการณ์ และจากพระวาจาจำนวนมากมายที่ถ่ายทอดกันต่อๆมาโดยเล่าด้วยปากเปล่า หรือบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และยังสังเคราะห์เรื่องราวบางเรื่องเข้าด้วยกัน   หรืออธิบายโดยคำนึงถึงสภาพการณ์ของกลุ่มคริสตชนต่างๆ     ในที่สุดยังยึดถือรูปแบบการประกาศข่าวดีไว้เสมอ อย่างที่ว่าท่านถ่ายทอดความจริงเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าให้แก่เราด้วยความจริงใจ   ท่านเหล่านั้นเขียนเรื่องราวทั้งจากความทรงจำของตน และจากคำยืนยันของ “ผู้ที่เห็นและได้เป็นผู้ประกาศพระวาจามาตั้งแต่แรก”   โดยตั้งใจให้เราได้รู้ “ความจริง” ของเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราเคยได้รับการอบรมมาแล้ว (เทียบ ลก 1:2-4)

20)     นอกจากพระวรสารทั้งสี่ฉบับแล้ว สารบบพันธสัญญาใหม่ยังมีจดหมาย ของนักบุญเปาโล และหนังสืออื่นๆ ในสมัยอัครสาวกที่เขียนขึ้นโดยการดลใจของพระจิตเจ้าอีกด้วย ตามแผนการอันปรีชาของพระเจ้า หนังสือเหล่านี้ยืนยันถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า อธิบายคำสั่งสอนแท้จริงของพระองค์ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ประกาศกิจการอันศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้าซึ่งมีพลังจะช่วยให้รอดพ้น เล่าเรื่องการเริ่มต้นและการขยายตัวอย่างน่าพิศวงของพระศาสนจักร ทั้งยังบอกล่วงหน้าถึงการบรรลุจุดหมายอย่างรุ่งโรจน์ของพระศาสนจักรอีกด้วย

พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่กับบรรดาอัครสาวก ดังที่ทรงสัญญาไว้ (เทียบ มธ 28:20) พระองค์ทรงส่งพระจิตผู้บรรเทามายังพวกเขา เพื่อนำพวกเขาไปถึงความจริงอันสมบูรณ์ (เทียบ ยน 16:13)

บทที่ 6 : พระคัมภีร์ในชีวิตพระศาสนจักร

21)       พระศาสนจักรแสดงความเคารพต่อพระคัมภีร์เสมอมา เช่นเดียวกับที่แสดงความเคารพต่อพระกายของพระคริสตเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีกรรม พระศาสนจักรมิได้หยุดยั้งที่จะนำอาหารเลี้ยงชีวิตคริสตชนทั้งจากโต๊ะพระวาจาและจากโต๊ะพระกายพระคริสตเจ้าเสนอให้สัตบุรุษ   พระศาสนจักรถือเสมอมาและยังถือต่อไปว่าพระคัมภีร์พร้อมกับธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ เป็นบรรทัดฐานสูงสุดของความเชื่อของตน เพราะว่าพระคัมภีร์ได้รับการดลใจจากพระเจ้า และบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งเดียวสำหรับตลอดไป จึงสื่อพระวาจาของพระเจ้าโดยไม่เปลี่ยนแปลง และทำให้เสียงของพระจิตเจ้ายังก้องอยู่ในวาจาของบรรดาประกาศกและอัครสาวก คำเทศน์ทั้งหมดของพระศาสนจักรจึงต้องได้รับการหล่อเลี้ยงและควบคุมจากพระคัมภีร์เช่นเดียวกับคริสตศาสนาเอง เหตุว่าในพระคัมภีร์ พระบิดาในสวรรค์ทรงพบกับบรรดาบุตรของพระองค์ด้วยความรักอย่างสุดซึ้งและทรงสนทนากับเขา ในพระวาจาของพระเจ้ามีพละกำลังและประสิทธิภาพมากมาย จนว่าพระวาจานั้นค้ำจุนและเป็นพลังของ พระศาสนจักรและเป็นพละกำลังแห่งความเชื่อ เป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณและเป็นธารบริสุทธิ์ไม่มีวันเหือดแห้งของชีวิตฝ่ายวิญญาณสำหรับบรรดาบุตรแห่งพระศาสนจักร เพราะฉะนั้น คำกล่าวต่อไปนี้ถึงพระคัมภีร์จึงถูกต้องทีเดียว คือ “พระวาจาของพระเจ้านั้นมีชีวิตและทรงพลังอยู่เสมอ”   (ฮบ 4:12) “เสริมสร้างและประทานส่วนมรดกให้ท่านพร้อมกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย” (กจ 20:32 เทียบ 1 ธส 2:13)

22)     คริสตชนทุกคนต้องมีโอกาสเข้าถึงพระคัมภีร์ได้โดยสะดวก เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักรตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจึงรับพันธสัญญาเดิมฉบับแปลโบราณเป็นภาษากรีกที่เรียกว่า “เซ็ปตัวยินตา” (Septuaginta หรือ LXX ซึ่งแปลว่า “เจ็ดสิบ”)1 ว่าเป็นของตน ส่วนฉบับแปลเป็นภาษาตะวันออกอื่นๆ และฉบับแปลเป็นภาษาลาติน โดยเฉพาะฉบับแปลที่เรียกว่า “วุลกาตา” (Vulgata) นั้น พระศาสนจักรก็ให้เกียรติเสมอมา   แต่เนื่องจากว่าพระวาจาของพระเจ้าจะต้องพร้อมอยู่เสมอสำหรับทุกคนทุกเวลา พระศาสนจักรจึงมีความห่วงใยเยี่ยงมารดาจัดให้มีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและถูกต้องโดยเฉพาะจากต้นฉบับภาษาเดิมทีเดียว คำแปลเช่นนี้ หากได้ทำขึ้นตามโอกาสเหมาะสมและโดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองของพระศาสนจักร แม้จะได้ทำขึ้นโดยร่วมมือกับพี่น้องคริสตชนที่ยังแยกกันอยู่ โดยที่พระศาสนจักรผู้มีอำนาจสอนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ใช้วิธีการอันเหมาะสม ทำการศึกษาค้นคว้าและอธิบายตัวบทพระคัมภีร์ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ประกาศสั่งสอนพระวาจาของพระเจ้าจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้นำพระคัมภีร์มาเป็นอาหารเลี้ยงดูประชากรของพระเจ้าได้อย่างเกิดผล คริสตชนทุกคนก็อาจนำมาใช้ได้

23)     เจ้าสาวของพระวจนาถต์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ คือพระศาสนจักร ได้รับคำสั่งสอนจากองค์พระจิตเจ้า   พยายามอย่างยิ่งที่จะก้าวหน้าในการทำความเข้าใจพระคัมภีร์ให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อจะให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นอาหาร เลี้ยงดูบรรดาบุตรของตนอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงถูกต้องแล้วที่พระศาสนจักร ส่งเสริมการศึกษาผลงานของบรรดาปิตาจารย์ทั้งภาคตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งศึกษาพิธีกรรมด้วย บรรดาผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์คาทอลิก และบรรดานักเทววิทยาจึงควรจะรวมกำลังกันอย่างเข้มแข็ง อาหารทิพย์นี้ให้ความสว่างแก่สติปัญญา ให้กำลังแก่เจตนาและปลุกจิตใจมนุษย์ให้มีความรักต่อพระเจ้า   สภาสังคายนานี้สนับสนุนบรรดาบุตรของพระศาสนจักรผู้ศึกษาพระคัมภีร์ ให้มีความอุตสาหะมานะยิ่งๆขึ้นเพื่อดำเนินงานที่เริ่มด้วยดีแล้วนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป   โดยอุทิศกำลังทั้งหมดทำงานตามความคิดของพระศาสนจักร  

24)     เทววิทยานั้นตั้งอยู่บนพระวาจาของพระเจ้าที่เขียนไว้ และบนธรรมประเพณี เสมือนตั้งอยู่บนรากฐานอันถาวร พระวาจาให้ความแข็งแรงมั่นคงและให้ชีวิตอันสดชื่นอยู่เสมอแก่เทววิทยา ในการค้นคว้าพิจารณาความจริงทั้งปวงที่สะสมไว้ ในธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า โดยใช้ความเชื่อเป็นแสงสว่าง พระคัมภีร์บรรจุพระวาจาของพระเจ้า และเนื่องด้วยพระคัมภีร์เขียนขึ้นโดยการดลใจของพระเจ้า จึงเป็นพระวาจาของพระเจ้าอย่างแท้จริง ดังนั้นการศึกษาพระคัมภีร์จึงต้องเป็นเสมือนวิญญาณของเทววิทยา ศาสนบริการเกี่ยวกับพระวาจา ซึ่งหมายถึงการเทศน์สอนตามหน้าที่อภิบาล การสอนคำสอน และการอบรมตามนัยพระคริสตธรรมทุกอย่าง ซึ่งมีการเทศน์ในมิสซาเป็นส่วนสำคัญอย่างพิเศษนั้น ต้องได้รับการหล่อเลี้ยงอย่างดี และเจริญเติบโตอย่างศักดิ์สิทธิ์ อาศัยพระวาจาจากพระคัมภีร์นี่เอง

25) ดังนั้น บรรพชิตทั้งหลายโดยเฉพาะบรรดาพระสงฆ์ของพระคริสตเจ้า และคนอื่นๆ เช่นสังฆานุกร และผู้สอนคำสอน ซึ่งมีหน้าที่ประกาศสั่งสอนพระวาจาตามนิตินัย จึงจำเป็นต้องใกล้ชิดกับพระคัมภีร์ โดยอ่านและศึกษาอย่างลึกซึ้งในรายละเอียดอยู่เสมอ ขออย่าให้ใครในพวกนี้กลายเป็น “ผู้ประกาศพระวาจาของพระเจ้าแก่ผู้อื่นอย่างว่างเปล่าด้วยเสียงเท่านั้น แต่ภายในจิตใจเขามิได้เป็นผู้ฟัง พระวาจาเลย” (น.ออกัสติน)     เมื่อเขาจะต้องนำพระวาจาอันเป็นสมบัติมหาศาลโดยเฉพาะในพิธีกรรมมาแบ่งปันกับบรรดาสัตบุรุษที่อยู่ในความดูแลของตน ในทำนองเดียวกัน สภาสังคายนานี้ขอเตือนอย่างหนักแน่นเป็นพิเศษให้คริสตชนทั้งหลาย โดยเฉพาะสมาชิกในคณะนักบวช   อ่านพระคัมภีร์บ่อยๆ เพื่อจะได้เรียนรู้ “ความรู้ล้ำเลิศถึงพระเยซูคริสตเจ้า” (ฟป 3.8) “เพราะการไม่รู้พระคัมภีร์ คือการไม่รู้จักพระคริสตเจ้า” (น.เยโรม)

          ดังนั้น ให้เขายินดีสัมผัสกับตัวบทพระคัมภีร์โดยตรงทางพิธีกรรม   ซึ่งอุดมด้วยพระวาจาของพระเจ้า หรือทางการอ่านบำรุงศรัทธา หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับการนี้ หรืออาศัยอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งในสมัยนี้แพร่หลายทั่วไปอย่างน่าชื่นชม ทั้งนี้โดยได้รับการเห็นชอบและสนับสนุนจากบรรดาผู้อภิบาลของพระศาสนจักร แต่ให้เขาระลึกด้วยว่าการอ่านพระคัมภีร์จะต้องมีการภาวนาควบคู่อยู่ด้วยเสมอ เพื่อจะเป็นการสนทนาของพระเจ้ากับมนุษย์ เพราะว่า “เราพูดกับพระเจ้าเมื่อเราภาวนา   เราฟังพระองค์เมื่อเราอ่านพระวาจา” (น.อัมโบรส)

          เป็นหน้าที่ของบรรดาพระสังฆราช “ผู้เป็นคลังรักษาคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก” (น.อีเรเน) ที่จะใช้วิธีการอันเหมาะสมสั่งสอนสัตบุรุษที่อยู่ ในความปกครองดูแลของตนให้รู้จักใช้หนังสือพระคัมภีร์อย่างถูกต้อง   โดยเฉพาะพันธสัญญาใหม่และพระวรสารเป็นพิเศษ พระสังฆราชทำหน้าที่นี้ โดยใช้คำแปลตัวบทพระคัมภีร์ที่มีคำอธิบายที่จำเป็นและเพียงพอจริงๆประกอบด้วย เพื่อว่าบรรดาบุตรของพระศาสนจักรจะได้มีความคุ้นเคยกับพระคัมภีร์อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์ และมีจิตใจเปี่ยมด้วยเจตนารมณ์ของพระคัมภีร์

          ยิ่งกว่านั้น ควรให้มีการจัดพิมพ์พระคัมภีร์ที่มีคำอธิบายเหมาะสมแบบต่างๆที่ทุกคน แม้ผู้ที่มิใช่คริสตชนจะใช้ได้ด้วย และควรดัดแปลงพระคัมภีร์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเขา ให้ผู้อภิบาลสัตบุรุษ และคริสตชนทุกชั้นทุกฐานะพยายามเผยแพร่หนังสือพระคัมภีร์ประเภทนี้ทุกวิถีทางอย่างรอบคอบด้วย

26)     ดังนั้น อาศัยการอ่านและการศึกษาพระคัมภีร์ “พระวาจาของพระเจ้าจะได้รุดหน้าไป และได้รับความเคารพนับถือ” (2 ธส 3:1) และการเผยความจริงอันเป็นขุมทรัพย์ที่พระศาสนจักรได้รับมอบหมายไว้นั้นจะได้เข้าสู่ดวงใจมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยมยิ่งๆขึ้น ชีวิตของพระศาสนจักรเจริญเติบโตขึ้น จากการร่วมพิธีบูชามิสซาและรับศีลมหาสนิทบ่อยๆฉันใด เราก็หวังได้ว่า จะมีแรงผลักดันใหม่ๆ ต่อชีวิตฝ่ายจิตใจจากการเพิ่มความเคารพยิ่งๆขึ้นต่อพระวาจาของพระเจ้าซึ่ง “ดำรงอยู่ชั่วกาลนาน” (อสย 40:8 เทียบ 1 ปต 1:23-25) ฉันนั้น

          ข้อความทั้งหมดและแต่ละข้อที่ประกาศไว้ในสังฆธรรมนูญฉบับนี้ บรรดาปิตาจารย์แห่งสภาสังคายนาเห็นชอบแล้ว และอาศัยอำนาจจากบรรดาอัครสาวก ซึ่งได้รับมอบมาจากพระคริสตเจ้า ข้าพเจ้า พร้อมกับบรรดาปิตาจารย์ที่เคารพเหล่านี้ จึงรับรอง กำหนดและตราไว้ในพระคริสตเจ้า และข้อความที่สภาสังคายนาได้ตราขึ้นนี้ ข้าพเจ้าสั่งให้ประกาศใช้เพื่อเป็นเกียรติแด่พระเจ้า

ประกาศที่กรุงโรม ณ พระมหาวิหารนักบุญเปโตร

วันที่ 18 เดือน พฤศจิกายน   ค.ศ. 1965.

ข้าพเจ้า เปาโล สังฆราชแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก

ตามด้วยการลงนามของบรรดาพระสังฆราชอื่นๆ

 

(ตรวจแก้ไขเมื่อ พฤษภาคม 2002)

search

เนื้อหา Update ล่าสุด

เรียนพระคัมภีร์กับคุณพ่อวสันต์

frwasan01

คลิปวีดีโอเสียงประกาศก